คำขวัญโรงเรียน

วินัยดี ศึกษาเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม

เวลาทำการ

08.00-17.00 น.

ย้อนกลับ

ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 108 หมู่ 5 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี   จังหวัดจันทบุรี 22000

โทรศัพท์ 0-3931-1038 , 0-3931-1360 โทรสาร 0-3931-2575 Website : www.sm.ac.th , E-mail  : sm_school@hotmail.com 

       เป็นโรงเรียนในสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในเครือคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกระทรวงศึกษาธิการเป็นโรงเรียนสหศึกษาเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่6ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์มีวิวัฒนาการมาจากโรงเรียนของวัดแม่พระปฏิสนธินิรมลจันทบุรี ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับตัววัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2443 ขณะนั้นเน้นการสอนศาสนาต่อมาปี พ.ศ. 2450 ได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนชื่อว่า “โรงเรียนมารียาลัย” ดำเนินการสอนวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะเจษฎาจารย์ “เซนต์คาเบรียล” ซึ่งทำการสอนได้ 2 ปี ก็เลิกกิจการ ต่อมา พ.ศ. 2454 ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ในรูปแบบของโรงเรียนประชาบาล และในปี พ.ศ.2480 ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ดำเนินการสอนได้ 3 ปีก็ต้องหยุดทำการสอนนานถึง 5 ปีเนื่องจากเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน

       ต่อมา ปี พ.ศ. 2488 มีการเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนมารียาลัย” เป็น “โรงเรียนมารดาพิทักษ์” โดยบาทหลวงบุญชู  ระงับพิษ  เจ้าอาวาสในขณะนั้นขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่เปิดทำการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และอีก 2 ปีต่อมาได้รับอนุญาตให้ขยายถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3(ประถมศึกษาปีที่ 7)

       ปี พ.ศ. 2491  “โรงเรียนมารดาพิทักษ์” ได้แยกออกมา สร้างอาคารไม้หลังใหม่ 1 หลัง ณ บริเวณที่ตั้งโรงเรียนปัจจุบัน บนเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับวัดแต่คนละด้านกับโรงเรียนมารดาพิทักษ์ ใช้ชื่อว่า“โรงเรียนมารดาพิทักษ์แผนกมัธยม”เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 - 3 มีจำนวนนักเรียน 96 คน กิจการดำเนินไปด้วยดี ได้รับความไว้วางใจและความนิยมจากผู้ปกครอง ทั้งด้านวิชาการ และด้านความประพฤติของนักเรียน ในปี พ.ศ. 2493 จึงได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 404 คน เนื่องจากอาคารเรียนของ “โรงเรียนมารดาพิทักษ์”เดิมกับ “โรงเรียนมารดาพิทักษ์แผนกมัธยม” อยู่ในบริเวณวัดเช่นเดียวกัน และโรงเรียนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน กระทรวงศึกษาธิการจึงแนะนำให้“โรงเรียนมารดาพิทักษ์แผนกมัธยม” ขออนุญาตเปิดรับนักเรียนระดับประถมศึกษาเป็นแบบสหศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษารับเฉพาะนักเรียนหญิงเท่านั้น และตั้งชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์” ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2491 มีจำนวนนักเรียน 96 คน พร้อมทั้งขอโอนครูสตรีและนักเรียนจากโรงเรียนมารดาพิทักษ์  มาอยู่ในโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ปี พ.ศ.2498 รับนักเรียนได้ไม่เกิน 674 คน มีซิสเตอร์อานาสตาเซียพานี อันนาวงศ์ เป็นครูใหญ่คนแรก(พ.ศ. 2491-พ.ศ.2500)

       วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี มุขนายก แห่ง สังฆมณฑลจันทบุรี ได้โอนกิจการโรงเรียนของวัดให้ภคินีคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี เป็นผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ และผู้อำนวยการ บริหารจัดการด้วยตนเอง บาทหลวง ร็อค สนิท วรศิลป์ เจ้าอาวาสอาสนวิหารพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมลเป็นผู้มอบ และ ซิสเตอร์อานาสตาเซียพานี อันนาวงศ์เป็นผู้รับมอบ โดยมีนางสาวจำรัส อานามนารถ เป็นครูใหญ่ในปีการศึกษานั้น                                  

       โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์มีการบริหารจัดการศึกษาโดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขแห่ง มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นผู้รับใบอนุญาต ดำเนินการบริหาร จัดศึกษาโดยนักบวชหญิงคณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการและครูใหญ่  หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปตามวาระ และความเหมาะสม โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์มีการพัฒนา และเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งด้านอาคาร สถานที่ อาคารประกอบการ การจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการเรียนรู้ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการเรียนรู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ ตลอดจนบริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่นักเรียน ผู้ปกครอง คณะครู และชุมชน จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้ผู้ปกครองจากทุกอำเภอในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงส่งบุตรหลานมาเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2557ได้เปิดใช้อาคาร SANCTA MARIA เพื่อทำการเรียนการสอนนักเรียน ระดับก่อนประถมศึกษา           

  โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา(ศรร.2554)เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณธรรมของสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ มีนางสาวลำยงค์  อุ้นวุ้น เป็นผู้แทนผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ และผู้อำนวยการ